ADVC-HDM1 โลกของดิจิทัลวิดีโอ ไม่มีทางที่จะมีเพียงมาตรฐานเดียวที่ครอบคลุมการใช้งานได้ทุกประเภท งานบางอย่างต้องการความละเอียดหรือคุณภาพสูงเป็นพิเศษ บางอย่างก็จำกัดด้วยส่วนแสดงผลขนาดเล็ก หรือไม่ก็มีแบนด์วิดท์ที่จำกัด นอกจากนี้ยังขึ้นกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ความนิยม และส่วนแบ่งการตลาดของมาตรฐานนั้น ๆ จนถึงความคุ้มราคาของอุปกรณ์ที่ซื้อมา ทำให้มาตรฐานบนอุปกรณ์นั้นต้องมีการใช้งานต่อไป ความจำเป็นในการแปลงสัญญาณจากมาตรฐานหนึ่ง ไปสู่อีกมาตรฐานหนึ่งจึงยังคงมีอยู่ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด
วันนี้เราจะพาท่านมาทำความรู้จักอุปกรณ์แปลงสัญญาณอีกระดับหนึ่งของ Thomson หรือ Canopus ในชื่อเดิมที่เรารู้จักกันดี จริง ๆ แล้วการเรียกว่า “ อุปกรณ์แปลงสัญญาณ ” อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะโลกดิจิทัลนั้นสิ่งที่เราสนใจคือ “ ข้อมูล ” ไม่ใช่รูปแบบของสัญญาณไฟฟ้าที่เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลเท่านั้น แต่ถ้าจะเรียกว่า “ อุปกรณ์แปลงข้อมูล ” ฟังดูแล้วอาจจะนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ด้วยเหตุที่การส่งข้อมูลต้องอาศัยสายและสัญญาณต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในที่นี้ผมจะขอเรียเครื่องมือชนิดนี้กว่า “ อุปกรณ์แปลงสัญญาณ ” ก็แล้วกัน ADVC-100 ที่โด่งดังในอดีต มหากาพย์ของอุปกรณ์แปลงสัญญาณจาก Canopus เริ่มจาก ADVC-100 กล่องแปลงสัญญาณระหว่าง วิดีโอแอนะล็อก และดีวี (DV) ที่สร้างชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายที่สุดในบ้านเรา ( อ่าน DVM ฉบับที่ 22) ยุคนั้นผู้ที่ทำงานกับดีวี ไม่มีใครที่ไม่รู้จักกล่องแปลงสัญญาณตัวนี้ ADVC-100 ออกมาได้ระยะหนึ่งก็เปลี่ยนรุ่นมาเป็น ADVC-110 ซึ่งยังมีจำหน่ายจนถึงปัจจุบันนี้ ความแตกต่างที่สำคัญก็คือ ADVC-110 จะตัดช่องสัญญาณเข้าวิดีโอด้านหลังออก เหลือไว้แต่เพียงด้านหน้าเพื่อให้ราคาถูกลง แต่ยังคงซึ่งสมบัติอื่น ๆ ของ ADVC-100 ไว้ทุกประการ นอกจาก ADVC-110 แล้ว Canopus ยังมี ADVC-300 ที่มีรูปร่างภายนอกคล้ายกับ ADVC-100 มาก ต่างกันที่ ADVC-300 จะเน้นคุณภาพระดับอาชีพ โดยมีระบบควบคุมและปรับปรุงคุณภาพสัญญาณภาพให้สะอาดขึ้น เช่นการปรับอัตราขยายอัตโนมัติ ระบบลดสัญญรบกวน การแก้ไขไทม์เบส การปรับขยายช่วงระดับสีดำและขาว และการปรับเน้นขอบของวัตถุ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเพิ่มช่องสัญญาณภาพส่วนประกอบ (component) แบบหัวต่อ D ตามมาตรฐาน D1 ให้อีกหนึ่งช่องด้วย แน่นอน ADVC-300 จะมีราคาสูงกว่ารุ่นอื่น ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว Canopus เรียกผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาแล้วว่าเป็น ระดับอาชีพ เหมาะสำหรับงานส่วนตัวและงานองค์กรทั่วไป แต่สำหรับงานระดับออกอากาศ Canopus จะมีอีกสายผลิตภัณฑ์หนึ่งโดยมี ADVC-HDM1 เป็นหนึ่งในนั้นด้วย สายผลิตภัณฑ์นี้ได้แก่ ADVC-700, ADVC-1000, ADVC-3000, ADVC-HDM1, และ ADVC-HDSC-1 แต่ก่อนที่เข้าสู่รายละเอียดของ ADVC-HDM1 เราควรจะเข้าใจความแตกต่างของผลิตภัณฑ์แต่ละรุ่นพอสังเขปก่อน ตามตารางเปรียบเทียบด่านล่างนี้ ทำไมต้อง ADVC-HDM1 ระบบโทรทัศน์ปัจจุบันแบ่งออกเป็นสองระบบตามความคมชัดคือ ระบบความคมชัดมาตรฐาน (Standard definition) ที่ใช้กันเป็นหลักในบ้านเรา และระบบความชัดสูง (high definition) ที่เริ่มใช้กันอย่างจริงจังแล้วในอารยประเทศ แน่นอนระบบความชัดสูงจะต้องมีคุณภาพสูงและเป็นที่ปราถนามากกว่า แต่การจะเปลี่ยนไปใช้ระบบความชัดสูงไม่ใช่ของง่าย ต้องใช้เวลา ต้องรอความพร้อมในหลาย ๆ ด้านนอกจากอุปสรรค์ในเรื่องของต้นทุนที่สูงกว่าแล้ว หนึ่งในการจะสนับสนุนให้ระบบความชัดสูงมีความแพร่หลายก็คือ การพัฒนาสินค้าราคาประหยัดสำหรับผู้บริโภค ระบบเฮชดีวีด (HDV) จึงถูกคิดค้นขึ้นโดยนำส่วนประกอบพื้นฐานหลายอย่างมาจากระบบดีวี ( อ่าน DVM ฉบับที่ 21) ที่เดิมตั้งใจออกแบบไว้สำหรับผู้บริโภคเป็นหลักแต่สุดท้ายก็ถูกนำมาใช้ในงานผลิตรายการด้วย เฮชดีวีก็เช่นเดียวกัน ด้วยคุณภาพที่ออกมาดีเกินตัว ผู้ผลิตต่าง ๆ จึงหันมาใช้ เฮชดีวีในการผลิตรายการความชัดสูงที่ไม่ได้เล็งผลเลิศด้านคุณภาพจนเกินไป ประกอบกับการสอดรับจากผู้ผลิตที่ออกมาส่งเสริมด้วยผลิตภัณฑ์ เฮชดีวีระดับอาชีพ ซึ่งให้คุณภาพและฟังก์ชันที่จำเป็นในการทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในสตูดิโอเช่น การกราดแบบก้าวหน้า (progressive scan) การสนับสนุนอัตรากรอบภาพแบบฟิล์มภาพยนตร์ (24p) การแสดงแถบสีทดสอบ (color bar) และการทำงานแบบพร้อมสัมพันธ์ (synchronization) กับอุปกรณ์อื่นเป็นต้น เมื่อเอชดีวีถูกผลักให้ขึ้นไปสู่ระดับอาชีพแล้ว ระดับผู้บริโภคจึงหันมาต้อนรับระบบใหม่ที่ประหยัดและสะดวกยิ่งกว่า ไม่ต้องบันทึกลงเทป ลดความยุ่งยากในการผลิตและซ่อมบำรุง โดยคุณภาพยังเป็นที่ยอมรับได้ ระบบนั้นก็คือ AVCHD มาตรฐานใหม่ของวิดีโอดิจิทัลความชัดสูงสำหรับผู้บริโภคนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การนำเฮชดีวีไปทำงานร่วมกับอุปกรณ์อาชีพในระดับบรอดคาสต์อื่น ๆ จำเป็นจะต้องแปลงสัญญาณไปมาระหว่างข้อมูลเฮชดีวีบนสายไฟร์ไวร์ กับ เฮชดี - เอสดีไอ (HD-SDI) ซึ่งเป็นมาตรฐานของการส่งข้อมูลความชัดสูงบนสายโคแอ็กเชียลในระดับออกอากาศ อุปกรณ์เฮชดีวีบางรุ่นจึงติดตั้งช่องสัญญาณเข้าออกแบบ เฮชดี - เอสดีไอ นี้ให้ด้วย ซึ่งแน่นอนจะทำให้ราคาสูงขึ้น ยิ่งมีจำนวนอุปกรณ์มาก ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ทางเลือกหนึ่งก็คือการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ต้องมีช่องสัญญาณ เฮชดี - เอสดีไอ เพื่อความประหยัด แล้วใช้อุปกรณ์แปลงสัญญาณ ADVC-HDM1 มาช่วย เมื่อจำเป็นจะต้องส่งข้อมูลระหว่างสองระบบนี้ ADVC-HDM1 ไม่เพียงแต่จะให้ระบบเชื่อมต่อกันได้เท่านั้น แต่ยังสามารถปรับอัตราบิตให้เหมาะกับงาน และนำไปใช้ในการสำรองข้อมูลความชัดสูงที่มีปริมาณมหาศาล ลงบนเทปเฮชดีวีและฮาร์ดดิสก์ที่มีอัตราบิตที่ต่ำกว่าได้อีกด้วย รายละเอียดของ ADVC-HDM1
ADVC-HDM1 อุปกรณ์แปลงสัญญาณจากบริษัท Thomson Grass Valley ออกแบบโดย Canopus ผู้ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ ADVC เป็นที่รู้จักแพร่หลายได้ก้าวเข้าสู่โลกของระบบโทรทัศน์ความชัดสูง ด้วยการแปลงสัญญาณแบบสองทิศทางได้อย่างมีคุณภาพ ระหว่าง เฮชดี - เอสดีไอ (HD-SDI) กับ เฮชดีวี (HDV) ทั้งภาพและเสียง ADVC-HDM1 ไม่เพียงแต่จะแปลงสัญญาณเฮชดี - เอสดีไอ ไปเป็น เฮชดีวี และแปลงสัญญาณ เฮชดีวี ไปเป็น เฮชดี - เอสดีไอ ได้อย่างง่ายดายทันทีเท่านั้น แต่ ADVC-HDM1 ยังสามารถเข้ารหัสให้เป็นสัญญาณ HD MPEG-2 Transport stream ที่มีความละเอียดเต็ม 1920x1080 โดยเลือกอัตราบิตได้ถึง 8 ระดับเพื่อความเหมาะสมกับงานแต่ละประเภท และเช่นเดียวกับ ADVC รุ่นอื่น ๆ ADVC-HDM1 สามารถใช้งานไม่ว่าระบบตัดต่อจะอยู่บน Windows หรือ Macintosh, ระบบโทรทัศน์จะเป็น NTSC หรือ PAL, หรือ จะนำไปใช้งานกับ กล้อง เทป หรือแผงตัดต่อวิดีโอ ก็ได้เช่นเดียวกัน ลักษณะภายนอก ADVC-HDM1 เป็นกล่องหน้ากว้างประมาณ 21.5 x 4.5 เซ็นติเมตร ลึกประมาณ 24.5 เซ็นติเมตร น้ำหนัก 1.5 กิโลกรับ หรือจะบอกขนาดในหน่วยสำหรับติดตั้งบนแร็ก ก็คือกว้างครึ่งแร็ก (half rack) สูง 1 หน่วย (Unit) นั่นเอง ภายในกล่องของ ADVC-HDM1 มีตัวแปลงไฟสลับแบบสากล (universal AC adapter) ไปเป็นไฟตรงแรงดัน 9 โวลต์ขนาด 3 แอมป์ พร้อมสายไฟแบบที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วไป และคู่มือการใช้งานเล่มเล็ก ๆ หนึ่งเล่ม นอกจากเอกสารรัปประกันและแสดงมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ แล้ว ด้านหน้าจะเห็นปุ่มเลือกโหมดการทำงานขนาดใหญ่ให้เลือกระหว่างเข้ารหัส (encode) กับ ถอดรหัส (decode) และ ปุ่มเลือกรหัสเวลาระหว่าง VITC กับ LTC อย่างชัดเจน เพื่อความเข้าใจ โหมดที่ ADVC-HDM1 ทำการแปลงสัญญาณ เฮชดี - เอสดีไอ ที่ไม่มีการบีบอัดไปเป็น เฮชดีวี ที่มีการบีบอัด จะเรียกว่าโหมดการเข้ารหัส ในทางกลับกัน โหมดการแปลงสัญญาณจาก เฮชดีวี ไปเป็น เฮชดี - เอสดีไอ จะเรียกว่าโหมดการถอดรหัส นอกจากนั้นจะเป็นไฟแสดงสถานะการทำงานต่าง ๆ และหัวต่อสัญญาณไฟร์ไวร์แบบ 4 ขาสำหรับเป็นทางเข้า/ออก ของสัญญาณดีวีหรือเฮชดีวี (11) อีกหนึ่งช่องนอกจากช่องทางด้านหลัง ด้านหลัง ประกอบด้วยหัวต่อสัญญาณต่าง ๆ ตั้งแต่ หัวต่อไฟร์ไวร์แบบ 6 ขา (7) รหัสเวลาเข้าออก (1,2) หัวต่อ เฮชดี - เอสดีไอ ทางเข้าหนึ่งช่อง (4) พร้อมช่องสัญญาณผ่าน (active through) อีกหนึ่งช่อง (3) ส่วนทางออกของ เฮชดี - เอสดีไอ มีให้สองช่อง (5) เพื่อนำสัญญาณไปใช้งานและสำรองให้กับจอภาพหรืออุปกรณ์อื่นอีกหนึ่งช่อง นอกจากนั้นจะเป็นหัวต่อแบบ D-sub 9 ขา สำหรับสัญญาณควบคุม RS-232C (9), RS-422 (10), และ อุปกรณ์ RS-422 (11) อย่างละหนึ่งชุด ที่เหลือเป็นสวิตช์ปิดเปิด (6) ช่องจ่ายไฟเข้า (12) และสวิตช์เลือกโหมดการทำงานต่าง ๆ (7) ลักษณะการใช้งาน ดังกล่าวมาแล้วว่าโหมดการทำงานของ ADVC-HDM1 มี 2 โหมดคือ โหมดเข้ารหัสกับโหมดถอดรหัส เราจะมาลองดูตัวอย่างวิธีการใช้งานทั้งสองโหมดดังนี้ โหมดถอดรหัส (decode) เป็นโหมดที่ใช้สำหรับแปลงสัญญาณ ดีวี หรือ เฮชดีวี ไปเป็นสัญญาณ เอสดีไอ หรือ เฮชดี - เอสดีไอ วิธีการต่อเชื่อมสัญญาณต่าง ๆ เข้ากับ ADVC-HDM1 ดังแสดงในรูป สัญญาณ ดีวี หรือ เฮชดีวี จากช่องไฟร์ไวร์ของกล้องหรือเครื่องเล่นเทปเฮชดีวี จะเชื่อมเข้ากับช่องต่อไฟร์ไวร์ด้านหน้า ( แบบ 4 ขา ) หรือด้านหลัง ( แบบ 6 ขา ) ของ ADVC-HDM1 ด้วยสายไฟร์ไวร์ที่เหมาะสม สัญญาณรหัสเวลาออก (TC out) ใช้ในกรณีที่ตัวรับต้องการรหัสเวลา LTC เท่านั้น สัญญาณที่ถอดรหัสเป็น เอสดีไอ หรือ เฮชดี - เอสดีไอ จะออกทางช่อง SDI OUT เพื่อส่งไปยังอุปกรณ์ที่ต้องการใช้สัญญาณนี้ซึ่งอาจเป็นเทป จอภาพ หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ ก็ได้ การปรับโหมด ทำโดยการกดปุ่ม ENCODE/DECODE นานกว่าหนึ่งวินาที หรือจนกว่าไฟแสดงสถานะจะติดที่ DECODE โหมดเข้ารหัส (encode) เป็นโหมดที่ใช้สำหรับแปลงสัญญาณ เอสดีไอ หรือ เฮชดี - เอสดีไอ ไปเป็นสัญญาณ ดีวี หรือ เฮชดีวี วิธีการต่อเชื่อมสัญญาณต่าง ๆ เข้ากับ ADVC-HDM1 ดังแสดงในรูป สัญญาณ เอสดีไอ หรือ เฮชดี - เอสดีไอ จากกล้อง เทป หรืออุปกรณ์สื่อสาร จะเชื่อมเข้ากับช่อง SDI IN ด้านขวามือซึ่งอยู่ด้านหลังของ ADVC-HDM1 กรณีที่ต้องการรหัสแบบ LTC ให้เชื่อมช่อง TC IN ของ ADVC-HDM1 เข้ากับช่อง TC OUT ของอุปกรณ์ด้วย ดังภาพ อย่าลืมเลือกชนิดของรหัสเวลาขาเข้าโดยกดปุ่มรหัสเวลาให้นานกว่าหนึ่งวินาที หรือจนกว่าไฟแสดงสถานะจะติดที่รหัสเวลาที่ต้องการ สัญญาณผ่านด้านซ้ายใช้สำหรับพ่วงเข้ากับจอภาพ หรืออุปกรณ์อื่นที่ต้องการนำสัญญาณเข้านี้ไปใช้งานต่อ สัญญาณที่ถูกเข้ารหัสให้เป็นสัญญาณดีวี หรือ เฮชดีวี จะออกมาจากช่องไฟร์ไวร์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพื่อเชื่อมเข้ากับกล้อง เทป เครื่องสลับภาพ หรืออุปกรณ์อื่นใด ที่ต้องการนำสัญญาณนี้ไปใช้งาน การปรับโหมดการทำงานทำโดยการกดปุ่ม ENCODE/DECODE นานกว่าหนึ่งวินาที หรือจนกว่าไฟแสดงสถานะจะติดที่ ENCODE ฟังก์ชันพิเศษ ดังกล่าวมาแล้วว่า ADVC-HDM1 ไม่เพียงทำหน้าที่แปลงไปมาระหว่าง ดีวี หรือ เฮชดีวี กับ เอสดีไอ หรือ เฮชดี - เอสดีไอ เท่านั้น แต่ ADVC-HDM1 ยังสามารถเข้ารหัสสัญญาณ เอสดีไอ หรือ เฮชดี - เอสดีไอ ให้เป็นรหัส MPEG-2 TS (Transport Stream) ที่มีความละเอียดสูงสุดถึง 1920 x 1080 จุด ด้วยอัตราบิตที่เลือกได้แตกต่างกัน MPEG-2 TS เป็น MPEG-2 ประเภทหนึ่งที่ออกแบบให้เหมาะสำหรับการส่งผ่านระบบโทรคมนาคมที่ไม่เน้นความถูกต้องของข้อมูล 100% สัญญาณชนิดนี้จึงนิยมนำไปออกอากาศโทรทัศน์ดิจิทัลผ่านทางสถานีภาคพื้นดิน สายเคเบิล ทางดาวเทียม และระบบเครือข่าย เป็นต้น ภาพข้างบนเป็นตัวอย่างการใช้ ADVC-HDM1 ร่วมกับ HDCS-3000S ซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่งวิดีโอบนเครือข่ายไอพี (video over IP) โดยปรับให้ลดหรือเพิ่มอัตราบิต ( ตามภาพตัวอย่างเป็นการเพิ่มอัตราบิตจากสัญญาณเฮชดีวี 25 Mbps ไปเป็น 40Mbps) ก่อน หลังจากนั้นก็ใช้ HDCS-3000R เป็นตัวรับแล้วแปลงสัญญาณที่ได้ให้กับจอภาพ หรืออุปกรณ์อื่นที่ต้องการนำภาพไปใช้งานอีกทีหนึ่ง การเลือกอัตราบิตทำได้โดยสวิตช์เลือกตัวที่ 6-8 ที่อยู่ด้านหลังดังตารางข้างล่าง สรุปรายละเอียดที่สำคัญของ ADVC-HDM1 มีดังนี้ แปลง HD-SDI ไปเป็น HDV พร้อมกับเสียงแบบฝังติดกับสัญญาณภาพ แปลง HDV ไปเป็น HD-SDI พร้อมกับเสียงแบบฝังติดกับสัญญาณภาพ เข้ารหัสเป็น MPEG-2 transport streams พร้อมกับทางเลือกในการกำหนดอัตราบิต 8 ระดับตั้งแต่ 11Mbps จนถึง 40Mbps สนับสนุนความละเอียดวิดีโอความชัดสูงจนถึง 1920x1080 จุด มีช่องทางเข้าสำหรับรหัสเวลาภายนอกเมื่อเข้ารหัสเป็นสัญญาณ HDV ควบคุมเครื่องบันทึกเทป HD-SDI ด้วยสัญญาณ HDV และ ควบคุมเครื่องบันทึกเทป HDV ด้วยสัญญาณ HD-SDI โดยการแปลงสัญญาณควบคุมระหว่าง AV/C กับ RS-422 ควบคุมการทำงานอย่างง่ายดายโดยใช้ปุ่มด้านหน้าเพียง 2 ปุ่ม สำหรับเลือกระหว่างการเข้ารหัสและถอดรหัส และสำหรับเลือกโหมดของรหัสเวลา สามารถรับสัญญาณ HD-SDI เพื่อบันทึกลงบน iDDR ของ Thomson Grass Valley ได้อย่างสมบูรณ์ ใช้ได้กับระบบตัดต่อวิดีโอบนแพลตฟอร์ม วินโดว์ส และ แมค ที่สนับสนุน HDV และ HD-SDI สามารถทำงานแปลงวิดีโอระหว่าง HD-SDI กับ HDV ได้ด้วยตนเองแบบสองทิศทางโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ตัวถังแข็งขนาดกว้าง 8 นิ้ว สูงหนึ่งหน่วยแร็ก มีอุปกรณ์ติดตั้งบนแร็กเป็นอุปกรณ์เสริม
ข้อมูลทางเทคนิค >> |