HOME NEWS Products 24fps Why so Complicated

วันพ่อแห่งชาติ

Search dvm-mag


We have 158 guests online
24fps Why so Complicated PDF Print E-mail
Written by Administrator   
Tuesday, 30 June 2009 19:45

เรื่องยุ่ง ๆ ของ 24fps

WhiteBalance
ทำไมต้อง 24fps 

เริ่มต้นมาจากพัฒนาการของภาพยนตร์ที่อาศัยความบกพร่องจากการมองเห็นของมนุษย์มาประยุกต์ใช้ ข้อบกพร่องนั้นก็คือ มนุษย์นั้นยังมีภาพติดตาต่อไปอีกประมาณ 0.1 วินาทีหลังจากภาพนั้นได้หายไปแล้ว ดังนั้นเมื่อเรานำภาพนิ่งที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปมาแสดงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 10 ภาพต่อวินาทีขึ้นไป เราจะเห็นภาพนิ่งที่เปิดเรียงกันเหล่านั้นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ อย่างไรก็ตามในอัตราการแสดงภาพนี้ ถึงแม้เราจะมองเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวแต่เราก็ยังเห็นอาการกระพริบของภาพอยู่ โดยเฉพาะเมื่อใช้เครื่องฉายที่มีกำลังส่องสว่างมาก ๆ เพื่อความเหมาะสม ภาพยนตร์ในยุคแรกจึงเลือกใช้อัตราการแสดงภาพ หรืออัตรากรอบภาพ 16 ภาพต่อวินาที และได้กลายเป็นมาตรฐานของภาพยนตร์เงียบในยุคนั้น แต่เมื่อถึงยุคของภาพยนตร์เสียงในฟิล์มที่ต้องบันทึกเสียงไปตามเส้นฟิล์มด้วย อัตรา 16 ภาพต่อวินาทีนี้ไม่สามารถให้คุณภาพเสียงที่ดีได้ ภาพยนตร์เสียงในฟิล์มจึงเลือกใช้อัตรากรอบภาพเป็น 24 ภาพต่อวินาที และยังคงใช้อัตรานี้จนถึงปัจจุบัน ที่อัตรานี้ นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องเสียงแล้วยังลดการกระพริบของภาพได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้จะใช้อัตรา 24 ภาพต่อวินาทีแล้ว ผู้ชมก็ยังสังเกตเห็นอาการกระพริบอยู่เมื่อใช้กับเครื่องฉายภาพยนตร์รุ่นใหม่ที่มีกำลังส่องสว่างมาก ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้โดยไม่ต้องเพิ่มอัตรากรอบภาพขึ้นไปอีก วิศวกรใช้เทคนิคการเปิดแสงสองครั้งต่อหนึ่งภาพ หมายความว่าเครื่องฉายจะเปิดปิดแสงที่ส่องผ่านฟิล์มไปยังจอภาพจำนวนทั้งสิ้น 48 ครั้งต่อวินาทีนั่นเอง

พอมาเป็นโทรทัศน์
 
                โทรทัศน์เริ่มมีบทบาทอย่างจริงจังหลังภาพยนตร์หลายปี การแพร่ภาพออกอากาศจำนวนไม่น้อยจึงต้องอาศัยภาพจากฟิล์มภาพยนตร์ที่มีอยู่แล้ว มันจะเป็นการง่ายหากกำหนดให้อัตรากรอบภาพของโทรทัศน์เท่ากับฟิล์มภาพยนตร์พอดี หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องวุ่นวายกับการแปลงอัตรากรอบภาพกลับไปกลับมาให้ยุ่งยากหากจะนำภาพยนตร์ไปแพร่ภาพออกอากาศทางโทรทัศน์หรือในทางกลับกัน อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ เนื่องจากภาพจะถูกรบกวนจากระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่ส่งมาจากโรงงานซึ่งถือเป็นแหล่งจ่ายไฟหลักให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของโทรทัศน์
                สาเหตุที่โรงงานไฟฟ้าไม่จ่ายไฟฟ้ากระแสตรงจากโรงงานก็เพราะไฟฟ้ากระแสตรง (ไม่มีการกลับขั้วไฟฟ้าไปมาเช่นในแบตเตอรี่และถ่านไฟฉาย) นั้นไม่สามารถแปลงแรงดันให้สูงหรือต่ำลงได้ แต่ไฟฟ้ากระแสสลับทำได้ง่าย ๆ โดยใช้หม้อแปลงไฟฟ้า การแปลงแรงดันก็เพื่อที่จะลดขนาดของตัวนำหรือสายไฟฟ้าให้เหมาะสมมิฉะนั้นสายส่งกำลังจากโรงไฟฟ้าไปยังเมืองต่าง ๆ อาจจะต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางหลายเมตรซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ จากสูตรการหากำลังงานพื้นฐานบอกเราว่า กำลังงาน (วัตต์) = แรงดัน (โวลต์) x กระแส (แอมป์) นั่นคือ ถ้าเราเพิ่มแรงดันให้สูงขึ้นเราจะลดกระแสให้ต่ำลงได้โดยกำลังงานยังคงเท่าเดิม กระแสที่ต่ำกว่าหมายถึงการใช้สายไฟฟ้าที่มีเส้นเล็กลงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม แรงดันที่สูงมากนี้ไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานทั่วไป เราจึงต้องลดแรงดันลงมาเสียก่อน นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงเห็นหม้อแปลงไฟฟ้าตามถนนเป็นระยะ ๆ 
                ไฟฟ้าสลับที่ได้มาจะต้องถูกแปลงให้เป็นกระแสตรงโดยกระบวนการที่เหมาะสมจึงจะนำไปใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นเครื่องรับโทรทัศน์ได้ อย่างไรก็ตามการกรองกระแสในยุคนั้นยังไปเรียบพอที่จะป้องกันการรบกวน (hum bars) กับระบบภาพในราคาประหยัดได้ วิธีที่ง่ายกว่าก็คือการกำหนดให้อัตราการแสดงภาพเท่ากับความถี่ของกระแสไฟฟ้าสลับที่ใช้ในประเทศนั้น ๆ ไปเลย นั่นคือ 50 รอบต่อวินาที (Hertz) สำหรับระบบ PAL ในยุโรปและประเทศไทย และ 60 รอบต่อวินาทีสำหรับระบบ NTSC ในสหรัฐอเมริกา
                การเลือกใช้อัตราการแสดงภาพเท่ากับความถี่ของระบบส่งกำลังไฟฟ้าจริง ๆ แล้วยังไม่ทำให้อาการการรบกวนภาพหายไป เพียงแต่เราสามารถให้การรบกวนนั้นหยุดนิ่งในตำแหน่งที่มองไม่เห็นหรือพ้นจอออกไปแล้ว แทนที่จะให้เลื่อนขึ้นลงผ่านหน้าจอไปมา ถึงแม้ว่าปัจจุบันเราสามารถขจัดปัญหานี้ได้อย่างสิ้นเชิงโดยไม่ต้องสนใจว่าระบบไฟฟ้าที่ใช้จะมีความถี่เท่าไร แต่การเลือกใช้อัตราการแสดงภาพที่สอดคล้องกับระบบไฟฟ้านี้ได้วางรากฐานมานานจนกลายกลายเป็นมาตรฐานไปแล้ว เราจึงยังคงต้องเกี่ยวข้องกับอัตรา 50 และ 60 ภาพต่อวินาทีนี้ต่อไป     
** Please Login to read more ...  
Last Updated on Friday, 17 July 2009 15:25
 
Please register or login to add your comments to this article.